ฮังกาเรี่ยน กรังด์ปรีซ์ การแข่งขันหลังม่านเหล็ก

ฮังกาเรี่ยน กรังด์ปรีซ์ การแข่งขันหลังม่านเหล็ก
“ฮังกาเรี่ยน กรังด์ปรีซ์” การแข่งขัน “หลังม่านเหล็ก” ในยุคสงครามเย็น สนามประวัติศาสตร์ที่น่าค้นหาท่ามกลางธรรมชาติ และยุทธศาสตร์ที่เปรียบเหมือนรังเหย้าของชาวฟินน์





ถ้าพูดถึงการแข่งขันมอเตอร์สปอร์ตที่ฮังการี รายการนี้เป็นหนึ่งในรายการเก่าแก่ที่เคยมีการแข่งขันตั้งแต่ปี 1936 ครั้งนั้น เมอร์ซิเดส เฟอร์รารี่ และ อัลฟ่า โรเมโอ ส่งทีมเข้ามาแข่งขัน แต่สงครามโลกครั้งที่สองทำให้ กรังด์ปรีซ์ หายไป 45 ปี 


หลังสงครามโลกสิ้นสุด จักรวรรดิออสเตรีย-ฮังการีล่มสลาย ฝ่ายอักษะแพ้สงคราม บางส่วนของฮังการีกลายเป็นส่วนหนึ่งของสหภาพโซเวียต เบอร์นี่ เอ็คเคิ่ลสโตน ผู้บริหารใหญ่ ฟอร์มูล่า วัน ในตอนนั้นจึงอยากให้มีการแข่งขันในอาณาจักรใหญ่ระดับโลกเมื่อปี 1983 แต่เมื่อเข้าไม่ถึงมอสโกจึงขยับมาที่ บูดาเปสต์ ในปี 1986 เปิดโลก “หลังม่านเหล็ก” สู่สายตานานาชาติเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ยุคสงคราม ซึ่งว่ากันตามตรง ตอนนั้นสงครามเย็นก็ยังไม่สิ้นสุด และปกครองด้วยระบบคอมมิวนิสต์ 


ความลึกลับน่าค้นหาหลายอย่างและประวัติศาสตร์การเมืองมากมาย สถานที่ตั้งอันดีทำให้ที่นี่น่าสนใจอย่างยิ่งเมื่อเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของ ฟอร์มูล่า วัน แม้ 3 ปีหลังจาก ฮังกาเรี่ยน กรังด์ปรีซ์ คืนถิ่นระบอบคอมมิวนิสต์ที่นี่สิ้นสุดกลายเป็นประเทศสาธารณรัฐ แต่สนามแห่งนี้ยังมีเรื่องเล่าและมนตร์ขลังสืบมา 


บูดาเปสต์ เป็นเมืองหลวงขนาดใหญ่ลำดับที่ 9 ของยุโรปอยู่แถบยุโรปตะวันออก และแม้ต้องใช้เวลาเดินทางจาก ฟินแลนด์มาที่นี่ด้วยเวลายาวนานกว่า 27 ชั่วโมงทางรถยนตร์ ชาวฟินแลนด์ก็มักจะมาชมการแข่งขันอย่างล้นหลาม จนครั้งหนึ่ง คิมี่ ไรโคเน่น เอ่ยความในใจว่ารู้สึกเหมือนเป็น กรังด์ปรีซ์ ออฟ ฟินแลนด์


ที่จริงแล้วออสเตรียและฮังการีมีเขตแดนติดกัน แต่สนามที่ออสเตรียมีขาใหญ่อย่าง เร้ดบูลล์ เป็นผู้สนับสนุน และกลายเป็นสนามเหย้าของทีมสัญลักษณ์วัวแดง ทำให้ชาวฟินน์แห่กันมาที่ฮังการี ซึ่งในประวัติศาสตร์มีนักขับชาวฮังกาเรี่ยนคนเดียว ซอลต์ บอมการ์ทเนอร์ ที่เคยทำอันดับในโฮมเรซได้ดีที่สุดเพียงอันดับ 15 ส่วนผลงานที่ดีที่สุดในอาชีพอยู่ที่ ยูเอส กรังด์ปรีซ์ 2004 ในอันดับ 8 


เมื่อเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของ เอฟ วัน แล้ว ฮังกาเรี่ยน กรังด์ปรีซ์ ก็ยังไม่เคยหายไปจากปฏิทิน 36 ฤดูกาล มีเพียงการแข่งขันที่ มอนซ่า เซอร์กิต เท่านั้นที่ยาวนานกว่า นับได้ 37 ฤดูกาล 


หลังจากมีการเจรจากันว่า ฟอร์มูล่า วันจะมาจัดการแข่งขันที่ฮังการี ตามคำแนะนำจากเพื่อนคนหนึ่งของ เอ็คเคิ่ลสโตน รัฐบาลจึงตัดสินใจที่จะวางสนามเอาไว้นอกเมือง บูดาเปสต์ ใช้เวลาก่อสร้าง 8 เดือน อยู่ท่ามกลางภูเขาและธรรมชาติ หลังจากเสร็จเรียบร้อย ที่นี่ต้อนรับผู้ชมมากกว่า 200,000 ชีวิตทั้งที่ในยุคนั้นราคาตั๋วแพงมาก เมื่อเทียบกับค่าครองชีพของประเทศ และมีจำนวนไม่น้อยเดินทางมาจากประเทศข้างเคียง 


ขนาดสนาม 4.381 กม. สั้นเป็นอันดับ 3 ในบรรดาสนามทั้งหมด และมีความกว้างของถนนไม่มาก ทำให้องค์ประกอบหลายอย่างใกล้เคียงกับ โมนาโก กรังด์ปรีซ์ หาจังหวะแซงได้ยาก ส่วนสภาพอากาศบอกได้เลยว่าร้อนจัด แต่ก็มีเหตุการณ์ที่แปลกที่สุดในรอบ 20 ปีคือฝนเทลงมา ทำให้เรซนั้นพื้นสนามเปียกจนต้องแก้ไขสถานการณ์เฉพาะหน้ากันเป็นพัลวัน 


ช่วงออกตัว นักขับทุกคนระมัดระวังเพราะน้ำกระดอนจากล้อบดบังทัศนียภาพด้านหน้า เมื่อผ่านโค้งแรกจึงไม่มีการเฉี่ยวชน แต่หลังจากนั้น มีรถต้องออกจากการแข่งขันถึง 8 จาก 22 คันหรือประมาณ 1ใน 3 และ เจนสัน บัตตัน กลายเป็นแชมป์ประวัติศาสตร์จากการออกสตาร์ทโพลอันดับ 14 ซึ่งที่ผ่านมาสนามแห่งนี้ นอกจาก บัตตัน มีนักขับที่มาจับแชมป์แรกหลายรายหนึ่งในนั้นคือ เฮกกิ โควาไลเน่น ชาวฟินน์ที่แฟนๆ แห่กันมาเชียร์ และล่าสุดในปี 2021 คือ เอสเตบัน โอคอน 


ลูอิส แฮมิลตัน เคยคว้าแชมป์มากถึง 8 ครั้ง และเป็นเจ้าของความเร็วสูงสุดต่อรอบ ซึ่งทำเอาไว้ในปี 2020 ส่วนประเภททีมเป็นของ แม็คลาเรน 11 สมัย


ปัจจุบันสัญญาของ ฮังกาเรี่ยน กรังด์ปรีซ์ ยังมีอยู่จนถึงปี 2027 ดังนั้นมั่นใจได้เลยว่าแฟนๆ จะได้ชมสนามแห่งตำนานที่สวยงามและมากมายด้วยประวัติศาสตร์ไปอีกนาน 

F1DRIVE

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

อัปเดตข่าวล่าสุดก่อนใคร :

Website : www.truevisions.co.th

Facebook : Truevisions

Twitter : @TrueVisions

Line : @Truevisions

Youtube official : Truevisionsofficial

Instagram : Truevisionsofficial