Exclusive Interview: Tommy Chen Yen-Po ชายหนุ่มผู้ไม่เคยหยุด วิ่ง-ล่า-ฝัน

Exclusive Interview: Tommy Chen Yen-Po ชายหนุ่มผู้ไม่เคยหยุด วิ่ง-ล่า-ฝัน
สัมภาษณ์พิเศษ ทอมมี่ เฉิน นักวิ่งหนุ่มชาวไต้หวันผู้พิชิตการแข่งขันวิ่งมาราธอน 4 ทะเลทรายเป็นคนแรกของเอเชีย

คุณเคยวิ่งตามความฝันไหม สำหรับบางคนแล้วถนนสู่ความฝันนั้นอาจราบเรียบ ไร้อุปสรรคใดๆ ในขณะที่อีกหลายคนอาจเต็มไปด้วยดินโคลน ภูผาสูงชัน หรือระยะทางไกลสุดสายตา ที่สามารถบั่นทอนความเข้มแข็งของจิตใจให้ทลายลงได้ในพริบตา


ทอมมี่ เฉิน หรือ เฉินเย่นป๋อ (Chen Yen-Po) หนุ่มชาวไต้หวันวัย 36 ปี ที่เราจะได้รับชมสารคดีการวิ่ง-ล่า-ฝัน หรือ Run For Dream ของเขาทางช่อง Outdoor ทรูวิชั่นส์หมายเลข 181, 673 ในวันเสาร์ที่ 20 สิงหาคม 20.00 น. ที่จะถึงนี้ ก็เป็นหนึ่งในหลายคนที่ออกวิ่งล่าความฝันบนถนนอันขรุขระรกรุงรัง เพียงแต่เส้นชัยแห่งความฝันของเขาคือการได้ออกวิ่ง และใช้ทุกวินาทีขณะที่วิ่งเพื่อเรียนรู้ขีดความสามารถของร่างกายไปพร้อมกับการพัฒนาจิตวิญญาณของตัวเอง

 

 

BORN TO BE

 

ทอมมี่เกิดที่ไทเป เมืองหลวงของไต้หวัน ในครอบครัวที่ค่อนข้างยากจน ทอมมี่เป็นลูกคนสุดท้องจากทั้งหมด 3 คน ตั้งแต่จำความได้เขาก็ได้เห็นภาพของพ่อกับแม่ต้องออกไปทำงานหนักทุกวัน เพื่อหารายได้มาจุนเจือครอบครัว

 

“พอโตขึ้นมาหน่อย ผมก็ถูกส่งไปอยู่กับย่าที่ต่างจังหวัด ย่าเป็นชาวสวนและมักจะพาผมติดสอยห้อยตามไปด้วยเสมอ” ทอมมี่เล่าถึงความหลัง แววตาเปล่งประกายแห่งความสุข “แปลงผักและพื้นที่รอบๆ ฟาร์มได้กลายมาเป็นโรงเรียนของผม ที่นั่นทำให้ผมได้รู้จักกับความสนุกสนานจากการได้วิ่งเล่น พอเข้าโรงเรียนทุกครั้งที่มีการแข่งขันกีฬาสีผมก็คว้าเหรียญทองมาได้เสมอ ผมจึงเริ่มรักการวิ่งมาตั้งแต่ตอนนั้น”

 

ความสุขจากการได้วิ่งทำให้ทอมมี่พัฒนาการวิ่งของเขาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเขาเองก็ยอมรับว่าการเริ่มต้นก็ไม่ได้มีอะไรที่แตกต่างจากคนทั่วไป ที่เริ่มวิ่งระยะทางสั้นๆ แล้วจึงค่อยเพิ่มระยะขึ้นไปเรื่อยๆ จนในที่สุดนักวิ่งหนุ่มก็สามารถคว้าชัยชนะการแข่งขันวิ่ง 10,000 เมตรได้สำเร็จเป็นครั้งแรกในระหว่างที่กำลังเรียนไฮสกูล

 

“ชัยชนะครั้งนั้นทำให้ผมได้สิทธิ์เข้าเรียนต่อที่มหาวิทยาลัยการกีฬาแห่งชาติของไต้หวัน (National Taiwan Sport University หรือ NTSU)” ชายหนุ่มกล่าวอย่างยิ้มแย้ม “หลังจากนั้นผมจึงพุ่งเป้าไปที่การแข่งวิ่งมาราธอนอย่างจริงจัง และก็ได้รับโอกาสในการเป็นตัวแทนทีมชาติและได้เดินทางไปแข่งขันยังต่างประเทศ”

 

แต่การได้เข้าร่วมทีมชาติและความตั้งใจในการเป็นนักกีฬาอาชีพกลับต้องสะดุดลง เมื่อเขาเริ่มมองเห็นทางตันในสายอาชีพ รวมถึงอนาคตที่ไม่แน่นอน และไม่สามารถสร้างรายได้ให้เขาสามารถลืมตาอ้าปากได้ อีกทั้งในขณะนั้นเขารู้สึกว่าผู้คนทั่วไปไม่ค่อยให้ความสำคัญกับอาชีพนักกีฬามากนัก เขาจึงตัดสินใจเบนเข็มไปมองหาโอกาสในการแข่งขันที่ต่างประเทศแทน

 

“ซึ่งนับว่าโชคเข้าข้างเพราะวันหนึ่งขณะผมเปิดเว็บไซต์ดูอะไรเรื่อยเปื่อยอยู่ ก็เจอโฆษณาของบริษัทหนึ่งที่กำลังต้องการคนรุ่นใหม่ไปลงแข่งขันวิ่งวิบาก 600 กิโลเมตรที่ขั้วโลกเหนือ (600-km Polar Challenge Race ปี 2008) ผมเลยไม่รอช้า รีบลงสมัครทันที แล้วก็โชคดีที่ผมได้เป็นหนึ่งใน 3 คนที่ถูกคัดเลือก (หัวเราะ) นั่นจึงเป็นครั้งแรกในชีวิตของผมที่ได้ไปสัมผัสกับขั้วโลกเหนือ”

 

นอกจากจะต้องปรับตัวให้เข้ากับสภาพภูมิอากาศที่แตกต่างจากไต้หวันอย่างสิ้นเชิง ทั้งยังต้องฝึกความทนทานของกล้ามเนื้ออย่างหนักหน่วงและต่อเนื่องแล้ว การฝึกสติเพื่อเผชิญหน้ากับเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิด ที่อาจเกิดขึ้นได้ตลอดเวลาก็เป็นอีกสิ่งที่หนุ่มคนนี้เห็นว่าจำเป็นอย่างมาก

 

“นอกจากพายุหิมะที่โหมกระหน่ำจนเต็นท์จะปลิวแล้ว ผมยังเกือบถูกหมีขั้วโลกจับกินด้วยครับ (หัวเราะ) มันบุกเข้ามาในเต็นท์ตอนกำลังนอนหลับ ผมสะดุ้งตื่นขึ้นมาด้วยความตกใจ ตัวมันใหญ่มาก ใบหน้าผมห่างจากมันแค่ไม่ถึงเมตร ผมนอนนิ่งตัวแข็งทื่อไปหมด เดชะบุญที่มันไม่ทำร้ายเรา”


 

ทางแยกของเส้นทางฝัน

 

ทุ่งน้ำแข็งสีขาวโพลนอันกว้างใหญ่ไพศาล พายุหิมะที่พัดโหมกระหน่ำ และอากาศที่เหน็บหนาวเข้ากระดูกตลอดการแข่งขันทั้ง 16 วัน ไม่ได้ทำให้ไฟแห่งความอุตสาหะอันลุกโชนของนักวิ่งหนุ่มมอดลงไปแม้แต่น้อย หนำซ้ำกลับยิ่งโหมกระหน่ำเร่งให้เขามุ่งมั่นพิชิตชัยชนะให้ได้เร็วที่สุด การแข่งขันในครั้งนั้นทีมของเขาเข้าเส้นชัยเป็นอันดับ 3 สร้างความตื่นเต้นให้กับคนไต้หวันทั่วประเทศ

 

จากการวิ่งเพียงเพื่อต้องการรายได้มายังชีพในตอนแรก กลับทำให้เด็กหนุ่มที่หลงอยู่ในวังวนแห่งความสับสนของชีวิตได้ค้นพบเส้นทางชีวิตสายใหม่ที่แม้แต่ตัวเขาเองก็คาดไม่ถึง

 

“ตอนนั้นผมอายุได้ 23 ปี แต่ประสบการณ์ในช่วงเวลาที่ชัยชนะมายืนรออยู่ตรงหน้า และการรอดพ้นจากความเป็นความตายที่เจอมาตลอดการแข่งขัน ทำให้มุมมองของผมต่อโลกใบนี้เปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง ผมเริ่มมองเห็นความฝันและอนาคตของตัวเองชัดเจนขึ้น

 

“ผมเช็ดเศษหิมะออกจากแว่นตานิรภัย วินาทีนั้นผมตระหนักได้ทันทีว่าจุดหมายชีวิตของตัวเองได้เปลี่ยนไปแล้วอย่างสมบูรณ์ และมันจะไม่มีวันเหมือนเดิมอีกต่อไป ผมตัดสินใจเลือกเส้นทางในการเป็นนักกีฬาอัลตรามาราธอน (Ultramarathon) ผมจะวิ่งตามความฝันในการพิชิตทุกพื้นที่ทั้งสองขั้วโลกด้วยสองเท้าของผมเอง”

 

เมื่อไฟประดับทางสายใหม่ส่องประกายเจิดจ้าขึ้น หนุ่มไฮเปอร์อย่างเขาจึงไม่ยอมปล่อยให้เวลาทุกนาทีผ่านไปโดยไร้ประโยชน์ ทอมมี่เริ่มต้นศึกษาทักษะความรู้เพิ่มเติมในทุกๆ ด้าน และลงมือฝึกซ้อมอย่างจริงจัง

 

“ปกติแล้วผมจะจัดตารางฝึกซ้อมเอาไว้ล่วงหน้า 8 เดือนก่อนการแข่งขัน ซึ่งก็อาจจะมีการปรับเปลี่ยนบ้างขึ้นอยู่กับความแข็งแรงของกล้ามเนื้อและสภาพร่างกายในช่วงนั้นๆ การเตรียมตัวมีทั้งการฝึกวิ่งสปรินท์ในระยะสั้นๆ การวิ่งระยะไกล การเสริมสร้างความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ วิธีเอาตัวรอดในสถานการณ์ฉุกเฉิน โดยเฉพาะพื้นที่ที่อากาศหนาวจัด การศึกษาเรื่องของอุตุนิยมวิทยา ความรู้ด้านโภชนาการ และปฐมพยาบาล ต่างก็เรื่องที่จำเป็นอย่างยิ่ง

 

“นอกจากนี้ผมยังฝึกตัวเองให้ชินกับการออกกำลังกายแบบความเข้มข้นสูง โดยใช้การปีนเขาสูงที่คนทั่วไปใช้เวลาเฉลี่ยในการขึ้นลง 5 วัน ผมก็จะวิ่งรวดเดียวให้จบภายในหนึ่งวัน เพื่อแน่ใจว่าร่างกายของผมจะแข็งแรงและพร้อมที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้

 

“ส่วนเรื่องของอาหาร ผมมักปรับเปลี่ยนแผนโภชนาการทุกครั้งก่อนการแข่งขัน ไม่ได้ปรับเพื่อให้แน่ใจว่าร่างกายได้รับสารอาหารเพียงพอต่อการใช้งานอย่างหนักหน่วงเท่านั้น แต่ยังต้องมั่นใจว่าจะเพียงพอต่อการฟื้นฟูร่างกายเพื่อทำการฝึกซ้อมหรือแข่งขันต่อในวันรุ่งขึ้นอีกด้วย

 

“ผมพยายามเลือกทานอาหารคลีนให้ได้มากที่สุด รวมถึงหลีกเลี่ยงอาหารรสจัดทุกอย่าง ไม่ว่าจะเผ็ด เค็ม หรือหวานก็ตาม เมื่อเราตระเตรียมเรื่องอาหารการกินไว้ล่วงหน้า เราก็จะไม่มีปัญหาเกี่ยวกับระบบการย่อยอาหาร รวมถึงร่างกายก็สามารถนำพลังงานไปใช้ได้อย่างรวดเร็ว โดยปกติแล้วก่อนการแข่งทุกครั้งผมจะโหลดคาร์บ (อาหารที่อุดมด้วยคาร์โบไฮเดรต) ไว้ก่อนถึง 7 มื้อ ทานเนื้อสัตว์แต่น้อย และพยายามกินอาหารพวกแป้งเสริมเมื่อร่างกายต้องการ”

 

 

บททดสอบครั้งสำคัญ

 

จากความสนุกสนานที่ได้วิ่งเล่นรอบแปลงผักในวัยเด็ก วันนี้ทอมมี่ได้พัฒนาศักยภาพของตัวเองให้กลายเป็นนักวิ่งอัลตรามาราธอนอาชีพ ที่ใช้สองเท้าของเขาวิ่งคว้าเอาชัยชนะจากการแข่งขันมาแล้วทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็น Himalaya 100 Mile Stage Race, Antarctic 100k Ultra Race, Kalahari Augrabies Extreme Marathon รวมถึงสนามปราบเซียนสุดโหดแห่งหนึ่งของโลกอย่าง Yukon Arctic Ultra 700k ที่แม้ว่าเขาจะเข้าสู่เส้นชัยสำเร็จเป็นอันดับที่ 3 ใช้เวลาไปทั้งสิ้น 254 ชั่วโมง แต่ความสำเร็จดังกล่าวกลับกลายเป็นบททดสอบครั้งใหญ่ เมื่อความเหนื่อยล้าและความเครียดอย่างรุนแรงฉุดสภาพจิตใจของเขาตกลงไปถึงจุดต่ำสุด

 

“ผมจำได้ว่าการแข่งขันในปีนั้นหนาวสุดๆ ไปเลย อุณหภูมิติดลบอยู่ประมาณ 56 องศาเซลเซียส ผมต้องนอนขดในถุงนอนเพียงลำพังตลอดทั้ง 10 คืน หลังแข่งจบน้ำหนักตัวผมหายไปเลย 15 กิโลกรัม ระบบภูมิคุ้มกันในตัวของผมรวนไปหมด”

 

ทอมมี่ยอมรับว่าสภาพของตัวเองหลังจบการแข่งขัน Yukon Arctic Ultra 700k ว่า ‘เหมือนคนบ้า’ เพราะเขาดูซูบผอม สมองตื้อ ไม่ร่าเริงเหมือนปกติ เนื่องจากการแข่งขันสุดทรหดนั้นทำให้เขาถูกอาการ PTSD (Post-Traumatic Stress Disorder หรืออาการป่วยทางจิตหลังเผชิญความเครียดอย่างรุนแรง) เล่นงานจนสะบักสะบอม ซึ่งเขาไม่เคยเตรียมตัวเพื่อรับมือมาก่อน

 

“ตอนที่วิ่งมาจนถึงช่วงสุดท้ายก่อนเข้าเส้นชัยนี่ผมจำได้แม่นเลย เหมือนสติหลุดไปแล้ว ผมเห็นภาพหลอนว่าตัวเองยังวิ่งอยู่ท่ามกลางทุ่งหิมะที่มืดตึ๊ดตื๋ออยู่เลย หลายครั้งที่ผมปล่อยโฮออกมาโดยไม่มีสาเหตุ บางทีนอนๆ อยู่ก็สะดุ้งตัวลุกขึ้นมาเก็บของใส่เป้ เตรียมใส่รองเท้าเตรียมออกวิ่ง ผมไม่รู้สึกตัวจนกระทั่งเพื่อนต้องเข้ามากอด ค่อยๆ ปลอบเพื่อดึงสติกลับคืนมา ในตอนนั้นผมแยกไม่ออกระหว่างเรื่องจริงกับภาพหลอน แต่หลังจากได้ปรึกษากับแพทย์สนามก็ได้คำแนะนำว่าอาการเหล่านี้จะค่อยๆ ดีขึ้น เมื่อเรากลับถึงบ้านและเริ่มใช้ชีวิตกับคนอื่นตามปกติ ซึ่งก็ต้องให้เวลาจิตใจได้เยียวยาตัวเอง”

 


อุปสรรคใหญ่คือใจของตัวเอง

 

หลังจากการแข่งขันสุดโหดได้จบลง ชื่อเสียงของทอมมี่ถูกกล่าวขานจนเป็นที่รู้จักมากขึ้นทั้งในประเทศของตัวเอง และในแวดวงนักวิ่งอัลตรามาราธอนทั่วโลก แต่สำหรับตัวของเขาเองแล้วระยะทาง 700 กิโลเมตรที่พิชิตได้ กลับดูเหมือนจะไม่เพียงพอที่จะเติมเต็มความฝันของเขาอีกต่อไป เขาต้องการเอาชนะตัวเองอีกครั้ง!

 

ปี 2016 ทอมมี่จึงตัดสินใจลงสมัครงานวิ่งที่ได้ชื่อว่าโหดที่สุดอีกงานหนึ่งของโลก นั่นคืองาน Racing the Planet: 4 Deserts Ultramarathon Series ที่นักวิ่งทุกคนจะต้องผลักดันตัวเองให้วิ่งเก็บระยะทำเวลาทั้ง 4 สนาม ระยะทางรวม 1,000 กิโลเมตร ให้ทันก่อนถูกตัดสิทธิ์

 

สนามแข่งทั้ง 4 สนาม ได้แก่ Namib Race ที่ทะเลทรายนามิบ นามิเบีย, Gobi Race ที่ทะเลทรายโกบี มองโกเลีย, Atacama Crossing ที่ทะเลทรายอาตากามา-ชิลี และ The Last Desert ที่แอนตาร์กติกา ทุกสนามถูกแบ่งระยะทางออกเป็น 250 กิโลเมตรเท่ากัน ทั้งยังแตกต่างโดยสิ้นเชิงในสภาพแวดล้อม สภาพภูมิอากาศที่ไม่อาจคาดเดาสถานการณ์ล่วงหน้าได้ จึงทำให้รายการนี้ผู้เข้าแข่งขันต้องเป็นคนที่มีสภาพจิตใจที่พร้อมและร่างกายที่แข็งแกร่งที่สุดเท่านั้น ที่จะสามารถยืนหยัดแข่งจนจบรายการได้

 

“ก่อนสมัครผมต้องวิ่งหาสปอนเซอร์ที่สามารถซัพพอร์ทค่าใช้จ่ายได้ แล้วในระหว่างนั้นผมก็ต้องเตรียมร่างกายให้มีความพร้อมมากที่สุด” ทอมมี่เล่าให้ฟังอย่างภาคภูมิใจ “ผมต้องฝึกทั้งเวทเทรนนิ่งและวิ่งเทรลอย่างบ้าคลั่ง ไปซ้อมวิ่งขึ้นเขาหิมาลัยคนเดียวเพื่อเตรียมตัวก็ทำมาแล้ว

 

“จริงๆ แล้วแต่ละสนามก็มีความท้าทายแตกต่างกันนะครับ สภาพภูมิประเทศก็แตกต่างกัน มีทั้งวิ่งหนาวๆ ฝ่าหิมะ วิ่งขึ้นเขา แล้วก็ยังมีทะเลทรายที่ร้อนนรกอีก แต่ละสนามต้องมีการเตรียมตัวเตรียมใจเอาไว้เนิ่นๆ ซึ่งสำหรับผมแล้วสิ่งที่ยากที่สุดไม่ใช่สนามนะ แต่เป็นการตัดสินใจที่จะลงแข่งมากกว่า เพราะอะไรน่ะเหรอ … ก็เพราะค่าธรรมเนียมต่างๆ ที่โคตรแพงน่ะสิครับ มันต้องใช้เงินเยอะมากกกกกกก (เฉพาะค่าธรรมเนียมการสมัครรวมเป็นเงิน 24,600 ดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 736,000 ดอลลาร์ไต้หวันใหม่)

 

“แต่อะไรก็ตามที่ผมตั้งใจทำแล้วผมก็จะเดินหน้าไปให้ถึงที่สุด จะไม่มีการคิดถอยหลัง ซึ่งถ้าเป็นคนอื่นก็อาจจะพะว้าพะวงอยู่นานหน่อย กังวลโน่น เป็นห่วงนี่บ้าง กลัวสิ่งที่คาดเดาไม่ได้บ้าง หรือแม้แต่เสียดายที่จะต้องสูญเสียอะไรไปบ้าง

 

“ผมว่าสิ่งที่พวกเราควรจะทำก็คือการก้าวออกมาจากคอมฟอร์ทโซน กล้าเผชิญหน้ากับความท้าทาย หยุดกังวล หยุดสนใจเรื่องราวหยุมหยิม หัดพึงพอใจกับสิ่งเล็กๆ น้อยๆ รอบตัว นั่นต่างหากคือสิ่งที่จะทำให้ชีวิตทุกวันของเรามีความหมาย”

 

 


ท้อที่ไม่แท้

 

ทอมมี่เริ่มต้นออกสตาร์ทได้ด้วยดีในสนามแรก เขาควบคุมความเร็วในการวิ่งและทำเวลาได้อย่างน่าทึ่ง กระทั่งเข้าสู่การแข่งขันสนามที่สอง การวิ่งทำความเร็วภายใต้อากาศร้อนระอุ และแสงแดดที่แผดเผาอย่างไม่ปราณีปราศรัยต่อสิ่งมีชีวิตบนพื้นทะเลทรายโกบี ทำให้ลูกผู้ชายเลือดนักสู้อย่างเขาต้องเสียน้ำตาอีกครั้ง

 

“Gobi Race เป็นสนามลำดับที่ 2 ของการแข่ง The 4 Deserts Ultramarathon Series ซึ่งนักวิ่งทุกคนจะต้องวิ่งให้ได้ 250 กิโลเมตร ภายในระยะเวลา 7 วัน 6 คืน ตอนนั้นผมวิ่งนำทุกคนเป็นอันดับ 1 อยู่ และก็น่าจะเหลือเพียงแค่อีก 2 วันก็จะถึงเส้นชัยแล้ว แต่พอเข้าเช็คพอยท์รองสุดท้ายผมก็วูบไปเลย! 

 

“เป็นเพราะผมวิ่งฝ่าทะเลทราย อุณหภูมิสูงเกือบ 56 องศาเซลเซียสมาตลอดวัน ร่างกายก็เลยขาดน้ำ เป็นลมแดดไม่พอ แผลที่เท้าก็ปวดระบม แถมฉี่ออกมาเป็นเลือดไปอีก ผมนอนทุรนทุราย ทรมานเหมือนนอนอยู่บนเตาย่าง หัวใจเต้นเร็วและแรงจัดจนเหมือนจะทะลุออกมาจากอก ตอนนั้นคิดอย่างเดียวว่าตัวเองคงไม่รอดแน่ๆ

 

“ผมเป็นลมอยู่ใต้ชะง่อนหินก้อนใหญ่ที่พอซุกตัวหลบแดดได้ แต่ตรงนั้นมันดันไม่ใช่เส้นทางหลักที่วิ่งแข่งกัน เดชะบุญที่มีเพื่อนนักแข่งชาวอังกฤษ กับชาวสวิตเซอร์แลนด์วิ่งมาเจอเข้า พวกเขาแบ่งน้ำให้ดื่มและช่วยกันพยุงผมขึ้นมา หลังจากนั้นก็มีนักวิ่งคนอื่นตามไล่มาจนทัน ทำให้ลำดับของผมตกลงไปอยู่ที่ 5 ซึ่งห่างจากคนที่เข้าอันดับหนึ่งถึง 1 ชั่วโมงครึ่ง 

 

“ตอนนั้นเอาจริงๆ ผมเกือบจะถอดใจเลิกวิ่งไปแล้ว แต่มานึกขึ้นได้ว่าพ่อกับแม่ของผมยืนรอผมอยู่ที่เส้นชัย ซึ่งนั่นเป็นครั้งแรกในชีวิตที่พวกเขาตามมาเชียร์ผมแข่งขันในตลอด 18 ปีที่ผ่านมา ผมเลยฮึดสู้ และออกวิ่งใหม่จนในที่สุดก็เข้าเส้นชัยจนได้”

 

แม้การพลาดพลั้งในสนามที่ 2 จะทำให้ทอมมี่รู้สึกผิดหวังไปบ้าง แต่สุดท้ายเขาก็ฮึดขึ้นมาอีกครั้ง จนสามารถวิ่งเข้าเส้นชัยสนามที่ 3 และ 4 ได้สำเร็จตามความฝัน แถมยังสร้างบันทึกหน้าใหม่ให้แก่เพื่อนร่วมชาติชาวไต้หวันและคนเชื้อสายเอเชียทั่วโลก ด้วยการเป็นชาวเอเชียคนแรกของโลกที่พิชิตการแข่งขันสุดโหดรายการนี้ลงได้อย่างเต็มภาคภูมิ

 

 

ชิ้นส่วนหนึ่งของชีวิตที่ขาดหาย

 

ตลอดระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมา ทอมมี่ยอมรับว่าเขาได้ทุ่มเททั้งพลังกายและใจเพื่อการแข่งขันอย่างเต็มร้อย เพื่อมุ่งหน้าสู่จุดหมายเท่านั้น จนบางครั้งเขายังอดตกใจตัวเองไม่ได้ ที่แทบไม่เคยคิดถึงการปลดปล่อยให้จิตใจได้ซึมซับมุมมองอันแง่งามของธรรมชาติและวิถีชีวิตของผู้คนที่แตกต่างกัน กระทั่งเขาได้ร่วมแข่งขัน Cambodia – The Ancient Khmer Path ระยะทาง 220 กิโลเมตร ที่ประเทศกัมพูชา เมื่อปี 2019 ที่ซึ่งเขาได้บังเอิญเจอชิ้นส่วนหนึ่งของชีวิตที่ขาดหายในระหว่างการแข่งขันครั้งนั้น

 

“ผมมีอาการบาดเจ็บเรื้อรังที่อยู่ในระหว่างการรักษาตอนที่ลงแข่ง แต่อาการเจ็บหัวเข่าของผมแทบจะหายเป็นปลิดทิ้ง เมื่อได้เห็นรอยยิ้มจากเด็กๆ เหล่านั้นที่กำลังเดินไปโรงเรียนในแสงสีทองยามเช้า” ทอมมี่กล่าวชื่นชมเด็กๆ และชาวบ้านที่ออกมาให้กำลังในนักวิ่งตลอดเส้นทางการแข่งขัน กำลังใจที่ได้รับจากคนแปลกหน้าเปรียบเสมือนน้ำทิพย์ชโลมจิตวิญญาณของเขา

 

นับว่าโชคดีที่หลังจากการแข่งขันครั้งนั้นจบลงไม่นาน ก็เกิดการระบาดของโควิด-19 ทำให้ทอมมี่ต้องพับแผนการเดินทางแข่งขันทั้งหมด เขามีเวลาได้ฟื้นฟูสภาพร่างกายและจิตใจ ทั้งยังได้พักผ่อนมากขึ้น แต่การพักผ่อนในสไตล์ของคนแอคทีฟอย่างเขา ก็คือการออกกำลังกายอยู่ดี เขาใช้เวลาว่างในการทดลองเล่นกีฬาเอ็กซ์ตรีมหลายประเภท รวมไปถึงการแนะนำให้ความรู้ผู้ที่สนใจวิ่งอัลตรามาราธอนผ่านช่องยูทูปส่วนตัว โดยที่ตัวเขาเองตั้งใจไว้ว่าหากประเทศเปิดให้เดินทางเต็มรูปแบบอีกครั้ง เขาก็พร้อมที่จะลงแข่งขันทันที เพียงแต่ครั้งนี้จะเป็นการแข่งขันเพื่อฝึกฝนและยกระดับจิตวิญญาณของตัวเอง

 

“ผมกำลังวางแผนลงแข่งขันรายการ Canada 700KM Non-Stop Crossing Race อีกรอบ ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ปีหน้า ซึ่งครบ 10 ปีพอดีจากที่เคยลงแข่งในครั้งแรก ตอนนั้นผมตั้งหน้าตั้งตาวิ่งอย่างเดียวไม่ได้สนใจวิวทิวทัศน์รอบตัวเลย ผมก็เลยอยากไปลองลงแข่งอีกครั้งเพื่อเปรียบเทียบพัฒนาการด้านการวิ่งของผมเอง และได้ชื่นชมความสวยงามของธรรมชาติรอบตัวไปพร้อมกัน ซึ่งการแข่งครั้งนี้จะไม่คิดถึงแต่เส้นชัยเหมือนเมื่อก่อนแล้วครับ แต่จะเป็นวิ่งเพื่อค้นหาความสงบภายใน และยกระดับจิตวิญญาณของตัวเอง”

 

ก่อนจากกัน ทอมมี่ได้ฝากข้อความผ่านทรูวิชั่นส์ถึงทุกคนที่รักการวิ่ง ไม่ว่าจะเพื่อออกกำลังกายหรือแข่งขัน รวมไปถึงคนที่กำลังท้อแท้และต้องการกำลังใจว่า

 

“วิ่งต่อไปครับ อย่าหยุด! แล้วคุณจะมองเห็นลู่ทางและอนาคตของตัวเอง ถึงแม้จะเป็นเส้นทางใหม่ที่ยังไม่เคยมีใครไปบุกเบิก มันอาจจะเต็มไปด้วยสิ่งแปลกใหม่ ความท้าทาย ความกังวลสงสัยในสิ่งรอบตัว จงอย่าได้ละทิ้งศรัทธาในตัวของคุณเอง 

 

การเริ่มต้นอาจจะช้าและไม่สวยงาม แต่หากคุณพยายามแล้วล่ะก็มันก็จะค่อยๆ เร็วขึ้นและไปได้ไกลขึ้นกว่าเดิม เมื่อใดก็ตามที่คุณก้าวเข้าสู่เส้นชัยแล้ว คุณจะรู้สึกขอบคุณตัวเอง และขอบคุณทุกคนที่คอยส่งกำลังใจให้ยามท้อแท้ ให้คุณลุกขึ้นและออกวิ่งต่อไป”

 

ใครที่ต้องการเติมไฟให้กับชีวิต ห้ามพลาดชม Run For Dream วันเสาร์ที่ 20 สิงหาคมนี้ 20.00 น. ทาง Outdoor ทรูวิชั่นส์ช่อง 181, 673


รับชมข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ Facebook: RunForDream1

 


Image: Outdoor / Chen Yen-Po Story: KJ

อัปเดตข่าวล่าสุดก่อนใคร :

Website : www.truevisions.co.th

Facebook : Truevisions

Twitter : @TrueVisions

Line : @Truevisions

Youtube official : Truevisionsofficial

Instagram : Truevisionsofficial